วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2556

2,538 ข้อควรทราบเรื่องการหยุดยากันชัก (ภาค 2)

เนื่อหาตอนนี้เพิ่มเติมจากที่เคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้ ตามลิ้งค์นี้ครับ
อาจจะสงสัยว่าในกรณีที่ชักด้วยสาเหตุต่างๆ รวมถึงอาจจะเกิดมีการบาดเจ็บที่สมอง เคยมีเนื้องอกในสมอง เคยผ่าตัดสมอง หรืออื่นๆ ถ้าไม่ชักมานานแล้วจะสามารถหยุดยากันชักได้หรือไม่ จะรับประทานไปอีกทานเท่าไร สามารุถหยุดได้หรือไม่?
จากการสืบค้นในแนวทางต่างๆ จะกล่าวว่าถ้าไม่มีอาการชักแล้ว 2 ปี ก็สามารถค่อยๆ ลดขนาดยาลงจนหยุดได้ แต่ไม่ได้กล่าวถึงสาเหตุการชักที่มีมาก่อน เพียงแต่ให้ข้อคำนึงว่าอาจมีปัจจัยบางอย่างที่มีผลต่อการเกิดชักซ้ำภายหลังหยุดยาได้ ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป รวมถึงระยะเวลาที่ลดยากันชักก็อาจมีความแตกต่างกันไป และยากันชักเองก็อาจมีผลข้างเคียง มีค่าใช้จ่าย เป็นภาระของผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาโดยตลอด
เนื่องจากผู้ป่วยบางส่วนจะกลับมามีอาการชักได้หลังหยุดยา โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปี แรก การที่ผู้ป่วยกลับมาชักซ้ำอาจส่งผลเสียเช่น การเกิดอุบัติเหตุ มีผลต่อการการปฏิบติหน้าที่-การทำงาน ตลอดจนการมีผลต่อบุคลิกภาพ ความมั่นใจในตนเอง ซึ่งในการหยุดยานั้นควรให้ผู้ป่วยและญาติร่วมตัดสินใจด้วย โดยการคำนึงปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้เกิดชักซ้ำ โดยร่วมกับผู้ป่วยและญาติในการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น การหยุดยาทําโดยการลดขนาดยากันชักลงอย่างช้าๆ โดยลดลง 15-20 % ทุก 4-8 สัปดาห์ ซึ่งสามารถจะหยุดยาได้ภายในระยะเวลา 6-12 เดือน
ปัจจัยในการพยากรณ์ถึงความเสี่ยงไม่เท่ากัน ปัจจัยที่มีความเสี่ยงมากได้แก่ ประเภทของโรคลมชัก และโรคลมชักที่มีสาเหตุ ยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงมากเท่าใดยิ่งมีโอกาสชักซ้ำมากขึ้นเท่านั้น โดยปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์กับความรุนแรงของโรคลมชักเช่น ประวัติเคยมี status epilepticus ระยะเวลาที่มีอาการชัก จำนวนของอาการชักทั้งหมดก่อนหยุดยา ระยะเวลาที่เริ่มยาจนกระทั่งปลอดจากการชัก ประวัติเคยชัก
ซ้ำหลังลดหรือหยุดยา ประวัติเคยไม่ตอบสนองต่อยากันชักชนิดต่างๆ ต้องใช้ยากันชักมากกว่าหนึ่งชนิด แต่ปัจจัยเหล่านี้ยังไม่สามารถสรุปได้แน่นอนว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดชักซ้ำหลังหยุดยา 
ถ้าเกิดอาการชักระหว่างหยุดยา ควรให้ยาเดิมที่เคยใช้ได้ผลในขนาดต่ำที่สุดก่อนแล้วค่อยๆ ปรับขนาดเพิ่มขี้นจนควบคุมอาการได้ ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการชักอีกเลยหลังจากหยุดยาเป็นเวลา 5 ปี ถือว่าผู้ป่วยหายจากโรคลมชัก ซึ่งที่กล่าวมาเป็นแนวทางเพื่อพิจารณาในการหยุดยา แต่จะพบว่าในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องใช้ยากันชักเป็นระยะเวลานานหรือตลอดชีวิต เนื่องจากผู้ป่วยบางรายไม่สามารถแก้ไขสาเหตุการชักให้หายขาดได้อย่างสมบูรณ์ หรือผู้ป่วยยังมีอาการชักซ้ำแม้ว่าจะให้การรักษาอย่างดีแล้ว 

Ref: 
-แนวทางการรักษาโรคลมชัก สำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปและทีมสหสาขาวิชาชีพ คณะแพทยศาตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ สปสช.
-แนวทางการรักษาโรคลมชักสำหรับแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา
http://www.doctor.or.th/article/detail/3253
http://www.goosiam.com/health/html/0000147.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น