วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

2,380 ข้อควรทราบเรื่องการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดในผู้ป่วยที่ใส่ขดเลือดในหลอดเลือดหัวใจ

ขดลวดค้ำยันผนังหลอดเลือดหัวใจชนิดไม่เคลือบยา (bare-metal stent; BMS) มีปัญหาเรื่องการเกิด neointimal hyperplasia ค่อนข้างมาก ทำให้เกิดการตีบซ้ำภายในขดลวด (in-stent restenosis)
จึงได้มีการใช้ยา เช่น sirolimus และ paclitaxel มาเคลือบที่ขดลวด ยาจะค่อยๆ ละลายมาออกฤทธิ์ที่ผนังด้านในของหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งชดลวดชนิดเคลือบยา (drug-eluting stent; DES) นี้ ยาที่นำมาเคลือบสามารถลด neointimal hyperplasia ได้ โดยยับยั้งการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด (smooth muscle cell) ทำให้ลดการตีบซ้ำภายในขดลวดได้ แต่ขดลวดถือเป็นสิ่งแปลกปลอมในหลอดเลือด จึงสามารถกระตุ้นเกล็ดเลือดและระบบการแข็งตัวของเลือดให้เกิดลิ่มเลือดได้ตลอดเวลาจนกว่าจะมีการเจริญของชั้นเยื่อบุผิวภายในหลอดเลือด (endothelium cell) เข้ามาปกคลุมผิวของขดลวดทั้งหมด (complete endothelialization) และไม่มีการสัมผัสกันของระบบเลือดและผิวของขดลวด กระบวนการนี้ใช้เวลา 2-6 สัปดาห์ในกรณีของขดลวดชนิดไม่เคลือบยา และใช้เวลานานหลายเดือนหากเป็นขดลวดชนิดเคลือบยาพบว่าผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้เวลานานถึง 2-4 ปี จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยซึ่งได้รับการใส่ขดลวดจะต้องได้รับยาต้านเกล็ดเลือด เพื่่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันภายในขดลวด (stent thrombosis) โดยพบว่าการให้ผู้ป่วยที่ได้รับการใส่ขดลวดรับประทานยาต้านเกล็ดเลือด 2 ชนิดควบคู่กัน (dual anti-platelet therapy) คือ ยาแอสไพริน (aspirin) ร่วมกับยาในกลุ่มไธโนไพริดิน (thienopyrine) ได้แก่ยาโครพิโดเกรล (clopidogrel) หรือยาทิโคพิดิน (ticlลopidine) จะลดโอกาสการเกิดปัญหาแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือดเมื่อเปรียบเทียบกับการได้ยาแอสไพรินเพียงอย่างเดียว
โดยคำแนะนำของ American College of Cardiology, American Heart Association ผู้ป่วยควรได้ยาต้านเกล็ดเลือดควบคู่กันอย่างน้อย 1 ปี ในกรณีที่ได้รับการใส่ขดลวดชนิดเคลือบยาและนาน 1 เดือน - 1 ปี สำหรับขดลวดชนิดไม่เคลือบยา และหลังจากได้ยาต้านเกล็ดเลือดทั้ง 2 ชนิดควบคู่กันจนครบกำหนดเวลาข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยยังคงต้องได้รับยาแอสไพรินต่อไปตลอดชีวิต

อ้างอิง: การจัดการยาต้านเกล็ดเลือดในผู้ป่วยที่ได้รับการใส่ขดขวดค้ำยันผนังหลอดเลือดหัวใจและต้องได้รับการทำหัตถการทางทันตกรรมและการผ่าตัด
อ. นพ. นพดล ชำนาญผล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น