วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

2,227 คู่มือสำหรับผู้ที่กินยาลดการแข็งตัวของเลือด

โดยคุณหมอโรคหัวใจ (cardiologist) ซึ่งใช้ชื่อในเว็บบอร์ด Thaiclinic.com ว่า Intimacy ได้จัดทำคู่มือสำหรับผู้ที่กินยาลดการแข็งตัวของเลือด ซึ่งแพทย์หรือผู้ให้การรักษาผู้ป่วยท่านใดจะนำไปใช้กัับสถานบริการหรือโรงพยาบาลของตนเองคุณหมอท่านก็ยินดี และต้องขอขอบคุณคุณหมอมานะที่นี้ด้วยครับ (อาจจะเป็นการใช้ภาษาง่ายๆ เป็นกันเอง เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจได้ง่ายนะครับ) 
  
เอกสารประจำตัวของผู้ป่วยชื่อ...........................................................
การวินิจฉัย.........................................................................................
ฉุกเฉินติดต่อ......................................................................................
  
ท่านเป็นผู้หนึ่งที่หมอมีความเห็นว่าสมควรกินยาตัวนี้ ดังนั้นหมอจึงให้คู่มือนี้เพื่อให้ท่านมีความเข้าใจ
ถึงประโยชน์ และ อันตราย จากยาตัวนี้ครับ
   ชื่อยา  : ยานี้มีชื่อว่า  Warfarin อ่านว่า วอ-ฟา-ริน
   สรรพคุณของยา วอฟาริน :   
โดยทั่วไปหมอจะเรียกยา วอฟาริน ว่า ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของร่างกายมนุษย์เรานั้น เลือดในตัวจะไม่จับกันเป็นก้อน แต่ถ้ามีแผลเลือดออก เลือดถึงจะจับตัวกันเป็นก้อนเพื่อเป็นการห้ามเลือด ยาวอร์ฟาริน มีฤทธิ์ในการป้องกันการแข็งตัวของเลือด ป้องกันเลือดจับตัวกันเป็นก้อนผิดปกติในร่างกาย
  ทำไมท่านต้องกินยาตัวนี้ 
เนื่องจากหมอมีความเห็นว่าท่านมีโรคที่ทำให้เลือดจับตัวกันเป็นก้อนเลือดได้เองในหัวใจหรือในหลอดเลือดได้ง่ายกว่าคนอื่นซึ่งจะมีอยู่หลายโรคโดยหมอจะไม่กล่าวในรายละเอียด แต่ประเด็นสำคัญคือ
เลือดที่จับกันเป็นก้อนนี้สามารถลอยไปอุดในสมองทำให้สมองขาดเลือดเป็นโรคอัมพาตได้ กล่าวโดยสรุปคือท่านต้องกินยาตัวนี้เพื่อป้องกันโรคอัมพฤกษ์หรืออัมพาตนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีโรคอื่นๆที่หมอจ่ายยา วอฟารินให้เช่น ผู้ป่วยที่ผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียม หรือผู้ป่วยบางรายก็กินยาวอฟารินเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดก้อนเลือดไปอุดเส้นเ ลือดที่ขาหรือที่ปอดเป็นต้น
  อันตรายจากยา 
ถ้ากินยาน้อยไปการรักษาก็จะได้ผลไม่ดี ทำให้ผู้ป่วยยังคงมีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดที่เป็นอันตรายเหมือนกับไม่ได้กินยา แต่ถ้ากินยามากเกินไปก็จะเกิดปัญหาเลือดออกง่ายเนื่องจากเลือดไม่ยอมแข็งตัว ถ้ามีแผลตามผิวหนังเลือดก็จะหยุดยาก อาจจะมีเลือดออกปนกับอุจจาระหรือปัสสาวะ
ถ้ามีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ก็จะทำให้อุจจาระจะเป็นสีดำ ถ้ามีประจำเดือนก็จะมีเลือดออกมากกว่าปกติ เวลาแปรงฟันอาจจะมีเลือดออกในปาก อาจจะมีจุดเลือดออกหรือมีจ้ำเขียวตามผิวหนังได้ง่ายหรือมีเลือดกำเดาไหลได้ง่าย
  ท่านควรปฎิบัติตัวอย่างไร 
  1. ถ้าท่านไม่แน่ใจว่าท่านกินยาลดการแข็งตัวของเลือดอยู่หรือเปล่า ให้ท่านนำเอายาทั้งหมดที่ท่านกินอยู่มาถามเภสัชกรหรือถามหมอว่ายาตัวไหนเป็น ยาลดการแข็งตัวของเลือด ข้อมูลที่ท่านทราบและจดจำได้จะมีประโยชน์มากเวลาท่านเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นหรือไปพบแพทย์แผนกอื่น
  2. กินยาในขนาดที่แพทย์สั่ง ห้ามเพิ่มหรือลดปริมาณยาเองเด็ดขาดถ้ามีเลือดออกผิดปกติให้หยุดยาทันที แล้วรีบมาปรึกษาแพทย์ โปรดจำไว้ว่าท่านสามารถมาพบแพทย์ประจำตัวก่อนวันนัดได้  และท่านสามารถมาปรึกษาแพทย์ท่านอื่นที่ห้องฉุกเฉินได้ตลอด24ชั่วโมง ที่โรงพยาบาลใดก็ได้
  3. กินยาตรงเวลา ถ้าลืมไม่ถึง 12 ชั่วโมงก็ให้รีบหยิบมากิน แต่ถ้าลืมเกิน 12 ชั่วโมงก็ให้ข้ามมื้อนั้นไปเลยโดยให้ถือว่าขาดยาไปหนึ่งมื้อ และมื้อต่อไปก็กินยาเท่าเดิม ห้ามเพิ่มยาเองเด็ดขาด
  4. ยานี้มีปัญหายาตีกันมาก ไม่ควรหาซื้อยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรมากินเอง หมอแนะนำว่าแม้แต่ความเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็ควรมาพบแพทย์ก่อนใช้ยารักษาโรคทุกโรค เวลาท่านไม่สบายท่านไม่ควรซื้อยากินเอง ควรปรึกษาแพทย์และบอกแพทย์ว่าท่านกินยาวอฟารินอยู่ เพราะแม้แต่ยาที่ปลอดภัยอย่างเช่นยาลดไข้แก้ปวดเช่นยาพาราเซ็ตตามอล ถ้ากินวันละหลายๆเม็ดยาก็จะอาจทำปฏิกริยากับยาวอฟารินทำให้เลือดหยุดยากขึ้นจนเป็นอันตรายได้ ยาสมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน หรือ ยาแผนโบราณอื่นๆ ก็อาจมีผลต่อยาวอร์ฟารินได้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนกินยาใหม่ทุกชนิด
  5. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดการกระทบกระแทก เพราะอาจทำให้เลือดตกในได้ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดบาดแผลเช่นการใช้ของมีคมเป็นต้น เมื่อเกิดบาดแผลให้ล้างมือและล้างแผลให้สะอาดและใช้มือกดที่ตำแหน่งแผลนานๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีก้างเพราะอาจจะตำเหงือกและหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด, สุรา หรืออาหารหรือยาที่จะทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้
  6. ถ้าเกิดอุบัติเหตุมีบาดแผลควรล้างมือให้สะอาดและใช้ผ้าสะอาดกดลงตรงบาดแผลตลอดเวลา
หรือพันไว้ให้แน่นเหนือบาดแผลเพื่อให้เลือดออกน้อยลง รีบไปโรงพยาบาลและแจ้งกับพยาบาลและแพทย์ว่ากินยาวอฟารินอยู่ด้วย
  7. จดจำชื่อยาและแจ้งแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนรับบริการว่าท่านใช้ยาวอร์ฟารินอยู่ โดยเฉพาะถ้าจะมีการฉีดยา ผ่าตัด หรือถอนฟัน
  8. ห้ามฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อทั้งที่ก้นและที่ต้นแขน
  9. ยานี้มีพิษกับทารกในครรภ์ ทำให้เด็กเกิดมามีความพิการได้ ดังนั้นจึงควรจะคุมกำเนิดด้วยวิธีใส่ห่วง
แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าท่านจะมีบุตรไม่ได้ ถ้าท่านตั้งครรภ์หรือมีความต้องการจะตั้งครรภ์ กรุณาแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อที่จะหาวิธีที่ปลอดภัยที่สุดแก่แม่และลูก ท่านควรจะบอกแพทย์ว่าท่านมีความประสงค์จะมีบุตรให้แพทย์ทราบก่อนที่ท่านจะตั้งครรภ์ จะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด
  10. กรุณาบอกแพทย์หากท่านอยู่ในระหว่างให้นมบุตร ไม่ควรให้นมบุตรขณะที่กินยาวอฟารินอยู่ เพราะยาจะผ่านทางน้ำนมไปสู่ลูกได้
  11. มาตรวจตามนัดทุกครั้ง ซึ่งแพทย์มักจะขอเจาะเลือดตรวจทุกครั้งเพื่อประเมินว่าท่านได้รับยาในขนาดที่เหมาะสมหรือยัง ถ้าท่านไม่สะดวกที่จะมาตรงวันนัด ก็ให้มาก่อนวันนัดได้ แต่ถ้าท่านมีอาการผิดปกติก็ควรจะรีบมาตรวจก่อนวันนัดเพื่อความปลอดภัย
  12. ขนาดที่เหมาะสมของยาตัวนี้ต้องดูจากผลตัวเลขของการตรวจเลือดที่เรียกว่า ค่าไอเอ็นอาร์ ( INR.) ซึ่งค่า ไอเอ็นอาร์ คือค่าที่บอกความสามารถในการแข็งตัวของเลือด ซึ่งจะมีการตรวจติดตามทุกครั้งที่ท่านมาพบแพทย์ ค่านี้มีความสำคัญมาก ดังนั้นท่านจึงควรมาตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
  13. แพทย์อาจเพิ่มหรือลดขนาดยาตามค่าการแข็งตัวของเลือดที่ได้ ท่านควรสอบถามขนาดยาให้แน่ใจกับแพทย์ และเภสัชกรทุกครั้ง
  14. ยาวอฟารินจะมี 2 ขนาดโดยสามารถสังเกตจากสีของเม็ดยาได้คือ
  ยาเม็ดสีฟ้าจะมีขนาด 3 มิลลิกรัม 
  ยาเม็ดสีชมพูจะมีขนาด 5 มิลิกรัม
  15. ท่านควรพกเอกสารนี้ติดตัวด้วยตลอดเวลา และให้ทำสำเนาเก็บไว้ที่ญาติหรือที่บ้านด้วย
เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นหรือไปตรวจกับแพทย์ท่านอื่น หรือทันตแพทย์ กรุณาให้แพทย์ดูเอกสารแผ่นนี้ด้วยเสมอ

  ค่า INR. คือค่าบอกความสามารถในการออกฤทธิ์ของยาวอร์ฟารินของท่านควรจะอยู่ในช่วง................................

ด้วยความปราถนาดี 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น