Rheumatoid factor เป็นภูมิต้านทานหรือภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นต่อตนเอง (autoantibodies) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นต่อตนเองที่เป็นอิมมูโนโกลบูลิน (immunoglobulin) โดยทำปฏิกิริยากับส่วน Fc ของ IgG แล้วเกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนทางภูมิคุ้มกัน (immune complexes) ซึ่งนำมาสู่ขบวนการเกิดโรค ตามห้องปฏิบัติการทั่วไปเป็นการตรวจชนิด IgM แต่เป็นที่รู้กันว่า rheumatoid factor เป็นอิมมูโนโกลบูลินในกลุ่มย่อยใดก็ได้ ระดับของ rheumatoid factor ที่ถือว่าให้ผลบวกอาจใช้ระดับที่มากกว่า 20 IU/mL หรือที่ไตเตอร์ตั้งแต่ 1:40, หรือมากว่า 95th percentile
การตรวจพบมิได้ถือว่าเป็นการวินิจฉัยแต่ควรใช้ลักษณะทางคลินิกร่วมกับการใช้ภาพถ่ายทางรังสี ดังเช่นเกณฑ์ในการวินิจฉัยเดิมและเกณฑ์ในการวินิจฉัยใหม่ที่ออกมาในปี 2010 โดย American College of Rheumatology/European League Against Rheumatism (ACR/EULAR) ซึ่งในเกณฑ์ในการวินิจฉัยใหม่นี้จะมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มขึ้นด้วย (สามารถอ่านเกณฑ์ในการวินิจฉัยใหม่ได้จาก ลิ้งค์ นี้) ในผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จะพบ rheumatoid factor ได้ประมาณ 60-85% (มีความแตกต่างกันในแต่ละอ้างอิง) โดยเฉพาะในไตเตอร์ที่สูง ถึงแม้ว่า rheumatoid factor จะให้ผลลบ แต่ถ้ามีลักษณะครบตามเกณฑ์ ยังสามารถให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้
Rheumatoid factor พบได้ในคนปกติร้อยละ 3 และจะตรวจพบได้มากขึ้นตามอายุ โดยในผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะตรวจพบอาจมีถึง 20% ในผู้ป่วยบางคนจะพบมี rheumatoid factor นำมาก่อนการเกิดโรคข้ออักเสบ
โดย rheumatoid factor สามารถพบได้ในภาวะอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ แต่ในภาวะเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะให้ผลบวกในไตเตอร์ที่ต่ำๆ เช่นสามารถพบได้ในผู้สูงอายุ โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue diseases) ชนิดต่างๆ เช่น โรคเอสแอลอี (SLE), โรคหนังแข็ง (scleroderma) เป็นต้น โรคที่เกิดจากภาวะการติดเชื้อเรื้อรัง ทั้งจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือ พยาธิต่างๆ ตัวอย่างเช่น วัณโรค ตับอักเสบจากเชื้อไวรัส เป็นต้นโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งไขกระดูก (multiple myeloma) มะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukemia) เป็นต้น
กลไกที่ชัดเจนที่ทำให้มีการหลั่งของ rheumatoid factor ยังไม่ทราบ แต่ rheumatoid factor อาจมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ มากขึ้น ดังนั้นจึงทำให้ผู้ป่วยที่มี rheumatoid factor ให้ผลบวกจะมีอาการมากกว่า (มักมีอาการในระดับปานกลางถึงรุนแรง) และมีอาการอื่นๆ นอกจากที่ข้อ แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงของเกิดโรค โดยไตเตอร์ของ rheumatoid factor ไม่สามารถใช้ติดตามการดำเนินโรคได้
Ref:
ตำราโรคข้อ สมาคมรูมาติซึ่มแห่งประเทศไทย
http://haamor.com/knowledge/สุขภาพผู้สูงอายุ/article/โรคข้อรูมาตอยด์/
http://www.thairheumatology.org/show_answeer.php?id_question=912
http://arthritis.webmd.com/rheumatoid-factor-rf
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น