หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

1,480. ผู้ป่วยมาปรึกษาว่า 2 วันก่อนดูดนมจากหลอด ที่มีผู้เคยเอาหลอดนี้ป้อนนมลูกแมว

มีผู้ป่วยมาปรึกษาว่า 2 วันก่อนดูดนมจากหลอด ที่มีผู้เคยเอาหลอดนี้ป้อนนมลูกแมว (เพิ่งทราบหลังใช้หลอดนั้นแล้ว) วันนี้ลูกแมวตัวนั้นตาย ผู้ป่วยไม่สบายใจกลัวว่าน้ำลายของแมวที่หลอดจะเข้าไปในปาก เราจะให้การพิจารณาเรื่องนี้ และให้การดูแลรักษาอย่างไรดีครับ?
ผมเอาข้อมูลเรื่องลักษณะการสัมผัสโรคมาให้เพื่อช่วยในการพิจารณานะครับ

WHO category I คือ ให้อาหารจับต้องตัวสัตว์ หรือ ถูกเลียที่ผิวหนังปกติ กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องให้การรักษา หรืออาจให้การรักษาโดยการให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบก่อนสัมผัสโรค (pre-exposure prophylaxis) เนื่องจากผู้สัมผัสโรคส่วนใหญ่จะมีความวิตกกังวล และการให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบก่อนสัมผัสโรคอาจมีประโยชน์ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการสัมผัสโรค และมีโอกาสสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าซ้ำอีกในอนาคต เช่น เลี้ยงสุนัข ฯลฯ และผู้ที่อาศัยอยู่ในแหล่งชุกชุมของโรค (rebies endemic areas) เช่น ประเทศไทย ซึ่งยังมีโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ชุกชุม

WHO category II คือ บาดแผลถูกงับเป็นรอยช้ำบนผิวหนังไม่มีเลือดออก บาดแผลถูกข่วนหรือเป็นรอยถลอกไม่มีเลือดออก หรือเลือดออกเพียงซิบ ๆ ถูกสัตว์เลียบนผิวหนังที่มีบาดแผลเก่าซึ่งยังไม่หายจะให้การรักษาด้วยวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

WHO category III คือ บาดแผลถูกกัด ข่วนซึ่งมีเลือดออกชัดเจน เยื่อบุ เช่น ตา ปาก ถูกปนเปื้อนด้วยน้ำลายของสัตว์ ถูกสัตว์เลียบนผิวหนังที่มีบาดแผลสด รับประทานเนื้อของสัตว์ที่เป็นโรคซึ่งปรุงไม่สุก การดื่มนมที่ไม่ผ่านการพลาสเจอไรซ์จากวัวที่เป็นโรคจากวัวที่เป็นโรค สัมผัสโรคจากค้างคาว เหล่านี้จะให้การรักษาด้วยวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ร่วมกับอิมมูโนโกลบุลิน
(บทความวิชาการ เรื่องการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและการดูแลรักษาผู้ป่วยภายหลังสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า โดยสถานเสาวภา สภากาชาดไทย)


จากข้อมูลของผู้ป่วย น่าจะเข้าได้กับ category 3 เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางมาตรฐานคงต้องให้การรักษาดังที่กล่าวข้างต้น หรือมีท่านใดมีความเห็นเป็นอย่างอื่น สามารถให้ความเห็นมาได้นะครับ.....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น