หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

1,221.Beta - blocker in heart failure

หลักการบริหารยา β- blocker ในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว

อาจจะเคยสงสัยหรือไม่แน่ใจเกี่ยวกับการให้ยา β- blocker ในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ลองมาอ่านตามนี้ดูนะครับ
ต้องเริ่มในขนาดยาน้อยๆก่อน แล้วค่อยๆปรับขนาดยาขึ้นช้าๆ จนได้ขนาดที่ต้องการ โดยที่ผู้ป่วยสามารถทนต่อยาได้ และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน ผลดีของการให้ยากลุ่มนี้จะเห็นเด่นชัดหลังได้ยาไปแล้วประมาณ 3-6 เดือน
  อย่างไรก็ตาม β- blocker สามารถที่จะกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ในผู้ป่วยที่ได้ยาขนาดสูงๆ หรือการปรับขนาดยาเร็วเกินไป ผู้ป่วยจะมีอาการหัวใจเต้นช้า และความดันโลหิตต่ำ นอกจากนั้นแล้ว อาจกระตุ้นให้เกิดหลอดลมตีบหอบหืด และการหดตัวของหลอดเลือดส่วนปลาย
 หลักการบริหารยา β- blocker
1. ผู้ป่วยควรมี hemodynamic คงที่ โดยไม่ได้รับยากระตุ้นหัวใจและไม่มีภาวะน้ำและเกลือคั่งในขณะที่เริ่มให้ยาβ- blocker
2. ให้เริ่มยาได้ในขนาดต่ำๆปรับขนาดยาเพิ่มได้โดยอาจจะเพิ่มขนาด ยาเป็น 2 เท่าทุกๆ 1-2 สัปดาห์ สามารถให้ยาและปรับยาให้กับผู้ป่วย โดยเป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอกหรือเป็นผู้ป่วยในคลินิกพิเศษ
3. ในกรณีที่ผู้ป่วยกลับมาด้วยอาการหัวใจล้มเหลวที่แย่ลง ความดันโลหิตต่ำ หรือหัวใจเต้นช้า ให้ปฏิบัติดังนี้
  3.1 ให้ตรวจดูอาการผู้ป่วยว่า มีภาวะน้ำและเกลือคั่ง ความดันโลหิตต่ำหรือหัวใจเต้นช้าหรือไม่
  3.2 ถ้าผู้ป่วยอาการแย่ลงโดยมีภาวะน้ำและเกลือคั่ง ให้เพิ่มขนาดยาขับปัสสาวะ ACEI และลดขนาดของ β- blocker ลงเป็นการชั่วคราว
  3.3 ถ้าความดันโลหิตต่ำ ให้ลดขนาดยาขยายหลอดเลือด และ/หรือลดขนาดยา β- blocker หรือให้รับประทานยาคนละเวลากัน
  3.4 ถ้ามีภาวะความดันโลหิตต่ำและช็อก ให้หยุดยา β- blocker และ ให้ใช้ยากระตุ้นหัวใจ
  3.5 ถ้าหัวใจเต้นช้า ต้องลดหรือหยุดยาตัวอื่นๆ ที่ทำให้หัวใจเต้นช้า และหยุดยา β- blocker ในกรณีที่มี heart block
  3.6 ถ้าผู้ป่วยดีขึ้น hemodynamic คงที่ ให้เริ่ม β- blocker ใหม่โดยใช้หลักการเดิม
ข้อห้ามใช้ยา β- blocker
1. ผู้ป่วยโรคหอบหืด
2. ผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นอย่างรุนแรง
3. หัวใจเต้นช้า น้อยกว่า 50 ครั้ง/นาที และความดันโลหิตต่ำ (systolic BP ต่ำกว่า 90 มม.ปรอท)
4. Heart block ที่มีความรุนแรงตั้งแต่ second degree AV block ขึ้นไป หรือมี trifascicular block

เพิ่มเติม: บางครั้งสิ่งที่เขียนไว้ในตำราอาจไม่เป็นที่สะดุดตา หรือบางครั้งไม่ได้อ่าน การแยกข้อความตรงนั้นออกมาเป็นช่วงๆ จะทำให้สามารถเห็นจุดเด่นของข้อมูลนั้น ทำให้สามารถนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ได้ครับ

นำมาจาก แนวทางการปฏิบัติมาตรฐานเพื่อการวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว
http://www.thaiheart.org/images/column_1291454908/CHFGuideline.pdf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น