วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

772. Tennis elbow or lateral epicondylitis

หญิง 54 ปี ปวดข้อศอกขวามานานกว่า 2 เดือน ตรวจพบกดเจ็บตรงลูกศรชี้ Dx, Mx?

ขอขอบคุณสำหรับความเห็นครับ
โรค tennis elbow หรือ lateral epicondylitis เป็นที่รู้จักกันมากว่า 100 ปีแล้ว ประมาณเกือบ 50% ของผู้เล่นเทนนิสจะเป็นโรคนี้ ในชีวิตของการเล่นกีฬาประเภทนี้ แต่นักเทนนิสที่เป็นโรคนี้เป็นเพียง 5%ของผู้ที่เป็นโรคนี้ทั้งหมด สาเหตุอื่นคือการใช้งานแขนบ่อยไป หนักไป ไม่ได้พัก
อาการจะค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ปวด ทางด้านนอกของข้อศอก ซึ่งจะกดเจ็บการเคลื่อนไหว เช่น การกำมือ ยกของ จะทำให้เจ็บข้อศอก อาการปวดอาจลามไปถึงข้อมือ อาการปวดอาจเป็นนานถึง 12 สัปดาห์ แต่อาจยังรู้สึกไม่สบายต่อไปอีก 3 สัปดาห์ จนไปถึงหลายปี
สาเหตุ
สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดในปัจจุบัน แต่เชื่อกันว่าน่าจะเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ
1. มีการฉีกขาดของจุดเกาะกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกระดกข้อมือ (extensor carpi radialis brevis) โดยเป็นการฉีกขาดระดับที่เล็กมากๆ ซึ่งเกิดจากการทำงานซ้ำๆ หรือเกิดจากการทำงานหนักดังที่ได้กล่าวแล้ว
2. เกิดจากความเสื่อมที่บริเวณจุดเกาะของกล้ามเนื้อดังกล่าวข้างต้น เมื่อมีการใช้งานหรือเล่นกีฬาจึงกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บปวดขึ้น
 แนวทางในการรักษา
สำหรับโรคนี้แบ่งใหญ่ๆ เป็น 2 แนวทาง คือ
1. การรักษาโดยวิธีประคับประคอง (conservative treatment)
2. การรักษาโดยวิธีผ่าตัด (operative treatment)
ผู้ป่วยส่วนมาก (มากกว่า 90%) อาการจะดีขึ้นได้ด้วยวิธีประคับประคอง โดยการรักษาวิธีนี้ยังแบ่งออกเป็น
-การพักการใช้งานและพักการออกแรงหนักๆ ในแขนข้างที่ปวด (rest)
-การให้ยารับประทาน โดยยาที่ใช้เป็นยากลุ่มลดการอักเสบลดอาการปวด อาจเสริมด้วยยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาแก้ปวดกลุ่มอื่นๆ
-การใส่สนับข้อศอกเฉพาะโรคนี้ (tennis elbow brace) โดยใส่เพื่อลดแรงที่มากระทบต่อจุดเกาะของกล้ามเนื้อเวลาออกแรงทำงานหรือเล่นกีฬา
-การออกกำลังกายและทำกายภาพบำบัด เป็นการออกกำลังกายแบบยืดกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น (stretching exercise) โดยเริ่มออกกำลังกายวิธีนี้หลังจากอาการปวดลดลงแล้วจากการรักษาสองวิธีแรกประมาณ 3-6 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังใช้Ultrasoundและแผนร้อนเข้าช่วยในการรักษาทางกายภาพบำบัดเพื่อบรรเทาอาการปวดข้อศอก
-การฉีดยากลุ่มลดการอักเสบสเตียรอยด์ ใช้เมื่อปวดมากหรือรักษาด้วยวิธีต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้วมากกว่า 3 เดือนอาการยังไม่ดีขึ้น โดยฉีดยาเข้าตรงบริเวณข้อศอกตำแหน่งที่เจ็บ ผู้ป่วยส่วนมากอาการจะดีขึ้นหลังฉีดยา
-แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเมื่อให้การรักษาด้วยวิธีประคับประคองแล้วอย่างน้อย 6 - 9 เดือน แต่ยังปวดมากและอาการไม่ดีขึ้น หรือในกรณีที่ฉีดยาไปแล้วหลายครั้งก็ยังกลับมีอาการอีก (ไม่ควรฉีดยาเกิน 3 ครั้ง)

http://www.health.com/health/library/mdp/0,,hw264887,00.html

2 ความคิดเห็น: